ประเมินราคาสนามกอล์ฟ
การประเมินราคาสนามกอล์ฟข้อสำคัญผู้ประเมินราคาควรเป็นนักกอล์ฟที่สามารถทดสอบสภาพสนามได้ด้วยตนเองจึงจะให้ความรู้สึกเปรียบเทียบสนามได้ด้วยตัวเองแต่ถ้าไม่ใช่ก็จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้คำปรึกษาร่วม สนามกอล์ฟเป็นทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้มีลักษณะเฉพาะที่จะพิจารณาประกอบได้แก่ ระบบสมาชิกระยะสั้นระยะยาว สถิตินักกอล์ฟแยกเป็นในวันธรรมดา วันหยุด วันสปอร์ตเดย์ และการเหมาจัดแข่ง ที่มีผลต่อราคาค่ากรีนฟี ด้านรายรับอื่นก็จะพิจารณาถึงรายรับจากการขายอาหาร การจัดเลี้ยง จากร้านโปรชอป จากซุ้มน้ำ จากการขายรถกอล์ฟ จากส่วนแบ่งแค๊ดดี้ฟี เป็นต้น ในด้านค่าใช้จ่ายก็จะพิจารณาถึง ค่าบำรุงรักษาสนาม ค่าเงินเดือน ต้นทุนการขายอาหาร ต้นทุนสินค้า ต้นทุนค่าน้ำและแหล่งน้ำ เป็นต้น
การประเมินราคาโดยวิธีเปรียบเทียบตลาด ซึ่งถ้าเป็นข้อมูลซื้อขายยกสนามนั้นปัจจุบันมีข้อมูลซื้อขายเปลี่ยนมือแบบยกสนามนั้นมีข้อมูลซื้อขายที่มีหลากหลายมากขึ้นแต่ต้องแยกแยะระดับเกรดของสนามให้ถูกดังนั้นผู้ประเมินควรใช้การเปรียบเทียบปัจจัยที่มีผลต่อราคาซื้อขายก็จะทำให้การสรุปราคามีความแม่นยำมากขึ้น
อย่างไรก็ตามวิธีคำนวณต้นทุนก็ยังมีความจำเป็นใช้ในการสอบทานราคา ต้นทุนค่าออกแบบและพัฒนาต่อหลุมของแต่ละสนามจะมีความแตกต่างกันตามเกรดของสนามและผู้ออกแบบ การพิจารณาค่าเสื่อมก็ควรจะแยกการพิจารณาให้เด่นชัด เนื่องจากสนามที่มีการบำรุงรักษาในส่วนของพื้นแฟร์เวย์นั้นอาจจะไม่มีค่าเสื่อมเลยก็ได้ จึงแตกต่างจากตัวอาคารสิ่งปลูกสร้างและงานระบบอย่างเห็นได้ชัด
ข้อควรคำนึงถึงของแต่ละสนามกอล์ฟหลายแห่งจะมีโรงแรมหรือรีสอร์ทที่พักสำหรับนักกอล์ฟซึ่งอาจจะรวมหรือไม่รวมอยู่ในการประเมินราคาจึงควรพิจารณาสกัดราคาค่าบริการที่เป็นแพคเกจออกจากกันให้ชัดเจน
- เอกสารและข้อมูลประกอบการประเมินราคาสนามกอล์ฟ
- เอกสารสิทธิ์ที่ดิน
- ผังต่อโฉนดหรือแผนที่ระวางที่ดิน
- แบบผังเลย์เอาท์สนาม
- แบบแปลนอาคารทุกหลัง
- รายรับรายจ่ายย้อนหลัง 3 ปีควรแยกแสดงช่องทางรายรับที่ชัดเจน
- สถิตินักกอล์ฟรายเดือนรายปี
- สรุปสถานะสมาชิกแยกประเภท พร้อมสิทธิประโยชน์
- อัตราค่ากรีนฟี