บัญชีลูกค้ากับบัญชีลูกหนี้การค้ามีความหมายแตกต่างกัน ในที่นี้เราจะพูดถึงบัญชีลูกค้าหมายถึงลูกค้าผู้ใช้บริการและผลิตภัณฑ์ขององค์กร บริษัทที่เปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลานานๆ ย่อมมีฐานลูกค้าอยู่ในมือของตนเองจำนวนมาก จะเป็นที่หมายปองของผู้ร่วมทุนอยากจะเข้ามาร่วมทุนด้วยเหตุที่จะเป็นช่องทางลัดในการต่อยอดธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยเหตุผลของการประเมินราคาฐานบัญชีลูกค้า ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ เพื่อทราบมูลค่าบัญชีลูกค้าในการเจรจาทางธุรกิจ ก่อนการตกลงซื้อขาย เพื่อให้เห็นมูลค่าทรัพย์สินไม่มีตัวตนขององค์กรที่น่าจะมีมูลค่าสูงกว่าทรัพย์สินที่มีตัวตน และประการที่สอง คือการเตรียมการบันทึกเป็น Assets อีกตัวหนึ่ง หลังมีการเข้าซื้อเรียบร้อยแล้ว กรณีนี้ควรแจ้งให้ผู้ทำบัญชีได้รับทราบล่วงหน้าเพื่อรับในหลักการก่อน โดยมีหลักเกณฑ์การประเมินราคาบัญชีลูกค้า ในลำดับแรก ผู้ประเมินจะทำการจัดกลุ่มลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้บริการประจำ กลุ่มผู้ใช้บริการไม่ประจำแต่มีอัตราการใช้ซ้ำสามารถยืนยันได้แน่นอน และกลุ่มผู้ใช้บริการแบบครั้งเดียวซึ่งมีโอกาสหันกลับมาใช้อีก ทั้งนี้การแบ่งกลุ่มลูกค้าก็อาจจะปรับได้ตามพฤติกรรมองค์กร การประยุกต์ใช้วิธีประเมินราคา ใน 2 วิธี
หลักการประเมินราคาฐานบัญชีลูกค้า โดยวิธีต้นทุน (Cost Approach) มองในแง่ของต้นทุนในการใส่เม็ดเงินลงไปเพื่อให้ได้ลูกค้าที่จำแนกเป็นกลุ่มนั้นขึ้นมาได้ เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การสร้างความสัมพันธ์ การเอนเตอร์เทนในรูปแบบต่างๆ การสร้างความเชื่อมั่น เป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เมื่อคำนวณรวมกันก็จะเป็นมูลค่าฐานบัญชีลูกค้า จากวิธีต้นทุน
หลักการประเมินราคาฐานบัญชีลูกค้า โดยวิธีรายได้ (Income Approach) มองในแง่ของการสร้างรายได้ในลูกค้าแต่ละรายโดยพิจารณาจากยอดขาย และอัตราการทำกำไรจากลูกค้าในแต่ละรายย่อมมีความไม่เท่ากัน แล้วทำการโปรเจคชั่นความเป็นไปได้ในการที่ลูกค้าจะใช้บริการซึ่งอาจเป็นไปตามสัญญาที่มี หรือปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง ก็จะได้มูลค่าบัญชีลูกค้าจากวิธีรายได้