นายปริสุทธิ์ รอดจากภัย ผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจวิจัย บริษัท โปรสเปค แอพเพรซัล จำกัด ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการประเมินราคาทรัพย์สินและที่ดินที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ เผยข้อมูลการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลการขายพื้นที่ในทำเลนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ครอบคลุม จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง เมื่อเดือนมีนาคม 2567 พบว่า ราคาขายพื้นที่ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ราคาขาย 4.9 ล้าน บาท/ไร่ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง ชลบุรี ราคาขาย 4.8 ล้าน บาท/ไร่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ราคาขาย 12 – 14 ล้าน บาท/ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์ กรีน อินดัสเตรียลเอสเตท ฉะเชิงเทรา ที่เปิดตัวใหม่ล่าสุด ราคาขาย 4.5 ล้าน บาท/ไร่ เปรียบเทียบกับข้อมูลราคาขายพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 พบว่า ราคาขายพื้นที่ภายในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 100 % ต่อปี ยกเว้นพื้นที่ระยองราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่อัตราการเพิ่มขึ้นต่ำกว่าพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา

ราคาที่ดินในนิคมภาคตะวันออก (ลบ./ไร่)

 (ที่มา : การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กนอ.)

ทำเล และ EEC หนุนราคาที่ดินพุ่ง

“ปัจจัยหลัก 2 ประการที่ทำให้พื้นที่ EEC ได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนมากกว่าพื้นที่อื่นภายหลังการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในปี 2563 ได้แก่ ปัจจัยด้านทำเลที่ตั้ง และ นโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานในทำเลนี้เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของนักลงทุน” นายปริสุทธิ์ กล่าว

ในด้านของทำเลที่ตั้ง นายปริสุทธิ์ กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกโดยเฉพาะ EEC อยู่ใกล้กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงมากที่สุด ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ เพียง 105 กิโลเมตร โดยห่างจากสนามบินอู่ตะเภา 85 กิโลเมตร สนามบินสุวรรณภูมิ 100 กิโลเมตร ทางน้ำ ใกล้ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเพียง 58 กิโลเมตร และท่าเรือมาบตาพุด 90 กิโลเมตร ส่งผลให้การขนส่งสะดวกกว่านิคมอุตสาหกรรมภาคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางถนน ทางอากาศ หรือทางน้ำ เป็นต้น

ในขณะเดียวกันการที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC โดยมีการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างต่อเนื่องทั้ง 1) รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (High-Speed Rail Linking 3 Airports) (2) ท่าอากาศยานอู่ตะเภา (U-Tapao International Airport) (3) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Intercity Motorway) (4) รถไฟทางคู่ (Dual-track Railway) (5) ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 (Laem Chabang Port Phase 3) และ (6) ท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (Map Ta Phut Industrial Port Phase 3) ส่งผลให้พื้นที่นี้ได้รับความนิยมจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐได้วางแผนพัฒนาโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เพื่อเสริมศักยภาพของพื้นที่ให้มีความโดดเด่นและอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม

นอกจากนี้พื้นที่ EEC ยังเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของประเทศ อาทิ ปิโตรเลียมและ ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการแปรรูปอาหาร ที่ผ่านมาภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตในพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้นิคมอุตสาหกรรมในเขตภาคตะวันออกมีการขยายพื้นที่ออกไปอย่างกว้างขวาง เพื่อตอบรับกระแสความสนใจของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทําให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากมูลค่าโครงการขอรับส่งเสริมและอนุมัติการลงทุนกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกมากกว่าพื้นที่อื่น โดยพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ภาคตะวันออกครอบคลุมจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปราจีนบุรี และ จังหวัดสระแก้ว

นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเติบโตต่อเนื่องหลัง COVID-19

ในขณะที่แนวโน้มการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศจากรายงานของ กนอ. พบว่า ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตในช่วงปี 2564 – 2566 หลังจากหดตัวรุนแรงในปี 2563 ที่เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID -19) โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีจำนวนนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยทั้งสิ้น 69 แห่ง เพิ่มขึ้นจาก 68 แห่งในปี 2566 และ 66 แห่งในปี 2565

จำนวนนิคมอุตสาหกรรมนิคมในประเทศไทย

 

(ที่มา : การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กนอ.)

นิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 69 แห่ง มีพื้นที่ขายและให้เช่าสะสมทั้งสิ้น 190,212 ไร่ พบว่า เป็นนิคมอุตสาหกรรม ในภาคตะวันออกมากที่สุดคือ 45 แห่ง โดยมีพื้นที่ขายทั้งสิ้น 150,341.11 ไร่ ถัดมาคือ ภาคกลาง 19 แห่ง มีพื้นที่ขายทั้งสิ้น 32,945.94 ไร่ ภาคใต้ 2 แห่งมีพื้นที่ขาย 2,755.24 ไร่ ภาคเหนือ 2 แห่ง มีพื้นที่ขาย 2,158.12 ไร่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง พื้นที่ขาย 2,213.78 ไร่

จำนวนพื้นที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ณ มกราคม 2567

 

 

(ที่มา : การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กนอ.)

ขณะที่จำนวนนิคมอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2565 – 2567 พบว่า เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งใหม่ในพื้นที่ EEC ทั้งสิ้น 3 แห่ง โดย 2 แห่งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ มีพื้นที่ทั้งสิ้น 1,181.02 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรม เอเพ็กซ์ กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท พื้นที่ 2,191.50 ไร่ และ 1 แห่งอยู่ในจังหวัดระยอง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมหนองละลอก พื้นที่ 1,546.55 ไร่

เปรียบเทียบพื้นที่ขาย/ให้เช่า ปี 2566 – 2567

เปรียบเทียบพื้นที่ขาย/ให้เช่าภาพรวม ปี 2565 – 2567

 

ณ สิ้นเดือนมกราคม 2567 กนอ. รายงานยอดขายและให้เช่าว่า มีการขายและให้เช่าทั้งสิ้น จำนวน 6,787 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 81.14% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2566 โดยยอดขายและให้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ยังคงอยู่ในภาคตะวันออกมากที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ 6,183 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 83% ของพื้นที่นิคมฯ ที่ขายและให้เช่า รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง คิดเป็นพื้นที่ 167 ไร่ ภาคเหนือ คิดเป็นพื้นที่ 24 ไร่ และ ส่งผลให้ยอดขายและให้เช่าสะสม ณ มกราคม ปี 2567 อยู่ที่ 104,363 ไร่ คิดเป็น 77.8% ของพื้นที่นิคมที่ขายและให้เช่าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ 2 ราย ได้แก่ AMATA และ WHA Group มีการปรับตัวโดยเน้นลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อยกระดับไปสู่นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) รวมทั้งขยายฐานการให้บริการด้านสาธารณูปโภคที่ครบวงจรมากขึ้น ช่วยหนุนให้รายได้รวมของผู้ประกอบการรายใหญ่ข้างต้นยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง

โดยกลุ่มประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรกในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2567 ตามรายงานของ กนอ. ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่ง 28.6% มีมูลค่าลงทุน 2,031 ล้านบาท รองลงมา ประเทศจีน 13.1% คิดเป็นมูลค่าลงทุน 934 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 6.0% มีมูลค่าการลงทุน 612 ล้านบาท ประเทศไต้หวัน 5.1% มูลค่าการลงทุน 428 ล้านบาท สิงคโปร์ 8.6% มีมูลค่าการลงทุน 360 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 38.6% คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 2,746 ล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มประเทศนักลงทุน  ณ เดือนมกราคม 2567

(ที่มา : การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กนอ.)

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ กลุ่มผลิตยานพาหนะ อุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ คิดเป็นสัดส่วน 11.49% รองลงมา กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ คิดเป็นสัดส่วน 8.53%, กลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ คิดเป็นสัดส่วน 7.66% กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ คิดเป็นสัดส่วน 7.36% กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก  คิดเป็นสัดส่วน 6.87% และกลุ่มอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วน 58.08% ตามลำดับ

กลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม
(ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2567
)

(ที่มา : การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กนอ.)

 

“จะเห็นได้ว่า ภาคตะวันออกยังคงเป็นเขตพื้นที่ที่ได้รับความนิยมสําหรับนักลงทุนชาวต่างชาติและชาวไทย และมีศักยภาพในการเติบโตสูงสุด จากการเป็นฐานการผลิตเชื่อมโยงโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program : ESB) ส่งผลให้ราคาที่ดินในพื้นที่นี้มีการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐที่มีส่วนสนับสนุนที่สำคัญที่ให้ทำเลภาคตะวันออกและพื้นที่ EEC มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นายปริสุทธิ์ กล่าว

บริการที่เกี่ยวข้อง

บริษัทประเมินอิสระ Independent Valuation Company Thailand

ให้บริการด้านประเมินมูลค่าทรัพย์สิน อยู่ในบัญชีรายชื่อของตลาดหลักทรัพย์และทุกสถาบันธนาคาร มุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานผลงานและพัฒนาวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง มุ่งหวังยกระดับมาตรฐานการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ในประเทศไทยเทียบเท่าระดับสากล ตามปรัชญาขององค์กรที่ปลูกฝังไปยังผู้ประเมินราคาในสังกัดทุกคน

บทความอื่นๆ

Follow Us

Prospec Appraisal

Top
Subscribe To Our Newsletter

Subscribe To Our Newsletter

Join our mailing list to receive the latest news and updates from our team.

You have Successfully Subscribed!